top of page
  • Writer's pictureกันต์ธนน วณิชพิสิฐธนา

อยากเลิกเป็นตะคริวตอนนอน..วิธีนี้อาจช่วยคุณได้จริง

เขียนโดย นายกันต์ธนน วณิชพิสิฐธนา


หลาย ๆ คนเคยเป็นตะคริว ผมเองก็เคยเป็นตะคริวตอนนอนหลับเป็นครั้งคราว ประมาณ 2-3 เดือนครั้ง ก็ถือว่าไม่บ่อยนัก ทุกคนที่เคยเป็นก็น่าจะรู้ว่าเจ็บแค่ไหน ที่แย่กว่านั้นก็คือบางครั้งขับรถอยู่บนถนนที่การจราจรหนาแน่น แล้วเกิดเป็นที่เท้าขึ้นมา อันนี้กังวลใจมากเพราะเกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุเพราะหลาย ๆ ครั้งจะจอดรถก็ไม่ได้เพราะรถติดมาก และได้จังหวะรถจะต้องออก ถ้าจะจอดไม่ไปก็เกรงใจรถข้างหลัง

ผมได้ลองศึกษาเกี่ยวกับลดอาการตะคริว ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ทั้งไทยและเทศ คำแนะนำก็เหมือน ๆ กัน จนทุกวันนี้ เข้าไปอ่านและข้อมูลก็ไม่แตกต่างจากที่เคยเรียนรู้มา ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า น่าจะมาจาก ออกกำลังกายมากเกินไป ใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นมากเกินไป ดื่มน้ำน้อยไป ร้อนเกินไป เย็นเกินไป ขาดเกลือแร่ต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้นวิธีแก้หรือป้องกันก็จะเป็นแก้สาเหตุดังกล่าวข้างต้น ผลเป็นอย่างไรก็ไม่มีใครทราบ

วันหนึ่ง ผมได้เข้าไปศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการบำรุงกระดูกให้แข็งแรง ปัญหาที่แท้จริงของโรคกระดูกพรุน และการป้องกัน จึงทำให้ผมได้รับความรู้เกี่ยวกับตะคริวโดยบังเอิญซึ่งน่าสนใจมาก ทำให้คิดว่าสิ่งที่ไม่เพียงพอต่อร่างกายอาจเป็นปัญหาที่แท้จริงของการเกิดตะคริว และก็ได้เรียนรู้วิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นด้วยวิธีง่าย ๆ

อย่างที่ผมเคยกล่าวไว้ในบทความหลายเรื่องว่า การดูแลเกี่ยวกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บนั้น ใครจะเขียน จะบอกอย่างไรก็ได้เป็นสิบเป็นร้อยวิธี ถ้าตัวเองไม่เป็นโรคแล้วลองรักษาด้วยวิธีนั้น ๆ เองก็จะบอกผลลัพธ์ไม่ได้ ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน ผมได้สืบเสาะหาข้อมูลมาจนคิดว่าใช่ ว่าการใช้แมกนีเซียมจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ก็ได้ลองหามาทดลองดู ไม่มีใครบอกได้ดีกว่าคนที่เป็นแล้วหาย ปัจจุบันผมไม่มีปัญหานี้แล้ว นอกจากนี้หลานสาววัย 15 ที่ชอบเป็นที่น่องตอนหลับซึ่งอยู่ที่อังกฤษก็บอกข่าวด้วยความดีใจว่าปัญหาเป็นตะคริวตอนนอนของเธอหายเป็นปริดทิ้ง


อาการของตะคริวและช่วงเวลาที่เกิดขึ้น

เวลาเป็นตะคริว (Muscle Cramp หรือ Charley Horse) มักจะเป็นช่วงตอนนอนหลับเสียส่วนใหญ่ที่บริเวณน่อง เกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจจะเป็นช่วงสั้น ๆ หรืออาจหลายนาที ช่วงที่เป็นจะเวลาที่เจ็บทรมานมาก แต่เมื่อเป็นแล้ว จะทำให้บริเวณนั้นเจ็บไป 1-2 วันทีเดียว

ตะคริวอาจเกิดขึ้นในโอกาสต่าง ๆ เช่น ระหว่างหรือหลังการใช้กล้ามเนื้ออย่างหนัก เช่น ออกกำลังหรือทำงาน เป็นต้น หรือ เกร็งกล้ามเนื้อบริเวณนั้นนานเกินไปเนื่องจากการใช้งาน อย่างที่ผมยกตัวอย่างที่เป็นบริเวณปลายเท้าตอนที่ขับรถ หรือ ไม่ก็ใช้นิ้วมือทำอะไรสักอย่างที่เป็นท่าทางที่ไม่ค่อยทำบ่อย โดยเฉพาะตอนซ่อมอะไรชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งต้องเกร็งนิ้วมือเพื่อจับชิ้นส่วนหรือเครื่องมือ ก็ทำให้ปลายนิ้วมือเป็นตะคริวได้เช่นกัน

สาเหตุที่แท้จริงของตะคริวคืออะไร


จากเว็บเพจนี้ Dr. Michael Jafee MD. แพทย์ประสาทวิทยาจาก the University of Florida Health และเว็บเพจนี้ของ Mayo Clinic กล่าวว่าสาเหตุที่แท้จริงของตะคริวนั้นยังไม่สามารถบอกได้ ดังนั้น ที่บอกว่าสาเหตุทั้งหลายบนเว็บไซต์ ก็คิดว่าน่าจะมาจากสาเหตุต่าง ๆ นา ๆ นั้นก็รักษาตามอาการ ถ้าวิเคราะห์กันแล้ว ก็เพียงสันนิฐานจากอะไรที่เกิดก่อนหน้าที่จะเป็นตะคริวที่จะเป็นเงื่อนไข ให้หลีกเลี่ยงสถานการณ์เหล่านั้นเสีย ก็น่าจะไม่เป็นหรือเป็นน้อยลง แต่เป็นตอนนอนนี่ ไม่ทราบว่าจะป้องกันอย่างไร และคนจำนวนมากมักจะเป็นมักชอบเป็นช่วงนี้เสียด้วย


แมกนีเซียมมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไร


ความเป็นจริง ร่ายกายอาจขาดแร่ธาตุหรือวิตามินอื่น ๆ อีกก็ได้ที่ทำให้เราเป็นตะคริว แต่คนส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยได้คำนึงถึงความสำคัญของแมกนีเซียม ในหัวข้อ The Magic of Magnesium: A Mighty Mineral Essential to Health เขียนโดย Christiane Northrup, MD กล่าวถึงตัวอย่างจากเพื่อนที่มีบุตรคนที่สามว่า มีอาการเกร็งมาก แต่ก็โชคดีที่อาการจะหายก็ต่อเมื่อเธอนอนลงเท่านั้น (มีงานวิจัยหลายงานที่เห็นด้วยกับการใช้แมกนีเซียมกับผู้ตังครรภ์ในกรณีที่เป็นตะคริว) หลังจากเพื่อนคนนี้คลอดบุตรแล้ว อาการเกร็งของกล้ามเนื้อยิ่งแย่ลง จนไปตรวจร่างกายและพบว่าเธอขาดแมกนีเซียมอย่างรุนแรง แพทย์ที่ดูแลเธอต้องให้แมกนีเซียมเข้าทางเส้นเลือด

อีกรายหนึ่งก็มาจากเพื่อนที่เป็นแพทย์เช่นเดียวกันเล่าในฟังว่า ชายผู้หนึ่งมีอาการกล้ามเนื้อไม่ทำงาน แม้แต่กลืนน้ำลายตัวเองก็ไม่ได้ ภรรยาต้องผสมแมกนีเซียมไซเตรทให้อมในปากสักพัก อาการของเขาก็จะหายไป

ในเรื่องเดียวกัน Dr. Northrup ได้ให้ความรู้ว่า เราส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญเพียงแต่แคลเซียมอย่างเดียวในเรื่องการดูแลกระดูก ซึ่งความจริงแล้ว แมกนีเซียมอาจมีความสำคัญมากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะมันรับผิดชอบกระบวนการในร่างกายกว่า 300 ชนิด และแมกนีเซียมเป็นตัวควบคุมว่าเซลล์จะรับแคลเซียมเข้าไปเท่าไหร่ เพราะถ้าเซลล์รับแคลเซียมมากเกินไป เซลล์จะหดตัว


ปัญหาที่ทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่ได้รับแมกนีเซียมไม่พอ ได้แก่

  • การแปรรูปอาหารทำลายแมกนีเซียมที่พบในอาหารบางชนิด

  • การใช้ยาลดกรด (และยาอื่น ๆ บางอย่างสำหรับอาการอาหารไม่ย่อย) ขัดขวางการดูดซึมแมกนีเซียม

  • แมกนีเซียมและแร่ธาตุอื่น ๆ หมดไปตามแนวทางการเพาะปลูกสมัยใหม่

  • ยาบางชนิดที่เราใช้ทำให้เราสูญเสียแมกนีเซียมในร่างกาย

หน้าที่ของแมกนีเซียมมีดังนี้

  • สังเคราะห์โปรตีน. ดีเอ็นเอ และอาร์เอ็นเอ ในเซลล์ของเราต้องการแมกนีเซียมสำหรับการเจริญเติบโตและการพัฒนาของเซลล์

  • จุดสัญญาณไฟฟ้าที่ต้องเดินทางเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรในเส้นประสาทของร่างกายรวมทั้ง สมอง หัวใจ และอวัยวะอื่น ๆ ของเรา

  • ควบคุมความดันโลหิตให้ปกติ ทำให้หลอดเลือดแข็งแรง ถ่ายทอดสัญญาณของเซลล์ประสาทและการไหลเวียนโลหิต

  • ควบคุมการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อทั้งหมด

  • หลั่งและควบคุมปริมาณ serotonin ให้สมอง

เธอแนะนำให้อ่านหนังสือชื่อ The Magnesium Miracle เขียนโดย Carolyn Dean ซึ่งเป็นหนังสือที่ออกจำหน่ายตั้งแต่ปี 2006 ผมเองก็ยังไม่ได้อ่านครับ แต่อย่างไรผมก็คิดว่าเป็นประโยชน์มากทีเดียว

อีกอย่างที่อยากทิ้งท้ายไว้ก่อนจบในหัวข้อนี้ก็คือ เรามักจะได้ยินว่าการที่เราต้องการป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระดูกพรุนนั้น จะต้องรับประทานแคลเซียมให้มากพอ แต่ความเป็นจริงแล้ว แมกนีเซียมก็มีความสำคัญไม่น้อย รวมทั้งแร่ธาตุและไวตามินบางตัวด้วย เนื่องจากแมกนีเซียมมีหน้าทำให้แคลเซียมไปในที่ ๆ มันควรจะไปในปริมาณที่เหมาะสม โปรดอ่านบทความเรื่อง คนที่มีปัญหาฟันผุ อ่านตรงนี้


ตกลงแมกนีเซียมช่วยให้เราหายจากตะคริวได้หรือไม่


จากงานวิจัยหลายแห่ง ได้รับคำตอบว่าไม่น่าที่จะช่วยได้ โดยในขณะเดียวกัน แพทย์หลาย ๆ คนก็บอกว่าได้ อันนี้เป็นเว็บของคนไทยเขียนเกี่ยวกับเรื่องตะคริวด้วย ผมเองก็ยังหางานวิจัยที่สนับสนุนเรื่องนี้อย่างชัดเจนไม่ได้ แต่ก็ช่างเถอะครับ เนื่องจากราคาของแมกนีเซียมคลอไรด์พอรับได้ และอย่างไรเสียตามสถิติในสหรัฐอเมริกา เอกสารงานวิจัยจำนวนมากชี้ว่า คนอเมริกันโดยส่วนใหญ่ได้รับแมกนีเซียมไม่เพียงพอทั้ง ๆ ที่คนอเมริกันใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากกว่าประเทศไทยมาก ผมก็เลยลองซื้อมาทดลองดู


แมกนีเซียมใช้ได้ผลกับผู้เขียน


ผมเห็นว่าวิธีการง่ายมาก เพียงผมใช้แมกนีเซียมคลอไรด์ผสมน้ำกลั่น ใส่ขวดฉีดพ่นขนาดเล็ก แล้วพ่นบนผิวหนัง ใช้ครั้งแรก ๆ แนะนำว่าอย่าพ่นเยอะ เพราะความไม่เคยก็อาจทำให้คุณรู้สึกคันยิบ ๆ แต่พอใช้ไปสัก 2-3 วัน อาการคันก็จะหายไป ต้องใช้เวลาอยู่นานเป็นเดือนถึงจะรู้สึกว่าได้ผล เพราะผมจะเป็นตะคริวนาน ๆ ครั้ง ไม่ที่น่องตอนนอน ที่นิ้วเท้าตอนขับรถ หรือที่นิ้วมือตอนใช้เครื่องมือชิ้นเล็ก ๆ ซ่อมของในบ้าน ปรากฏว่าไม่เป็นตะคริวเลย แต่เนื่องจากแมกนีเซียมคลอไรด์ที่ผมลองซื้อมาใช้ดู เป็นเกรดที่ผลิตมาเพื่อใช้กับอุตสาหกรรมและมาจากจีน ราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท (จำไม่ได้เสียแล้ว) ดังนั้น ผมเลยไม่กล้าใช้มาก เพราะเกรงว่าจะมีโลหะหนักอื่น ๆ ผสมอยู่

น้องสาวกำลังจะมาจากอเมริกา ผมก็เลยให้น้องหิ้วมาให้ผมถุงหนึ่ง ราคาแพงกว่าประมาณ 20 เท่าของที่ผมซื้อในเมืองไทย เนื่องจากว่าเป็นเกลือที่ได้มาจากแถวทะเลเหนือ และถูกสกัดให้บริสุทธิ์อีกทีเพื่อให้สามารถรับประทานได้ เจ้าตัวนี้แหละที่ผมใช้มาตลอด (ไม่ได้ใช้ทุกวัน) และแบ่งให้หลานสาวไปใช้ที่อังกฤษ

ความจริงแล้วแมกนีเซียมคลอไรด์ที่ผมได้มานั้น สามารถรับประทานได้เพราะมีความบริสุทธิ์มาก แต่ด้วยผู้ที่มีความรู้มากกว่าได้แนะนำให้ใช้พ่นบนผิวหนังจะได้ผลที่ดีกว่า เนื่องจากถ้าพ่นเข้าปาก กว่าแมกนีเซียมจะเดินทางไปถึงลำไส้เพื่อให้ลำไส้ดูดซึมเข้าไปในกระแสโลหิต ต้องใช้เวลามากและความสามารถของการดูดซึมของแต่ละคนก็ดีไม่เท่ากัน อาจจะได้ปริมาณน้อยกว่าที่ควรจะได้เมื่อเทียบกับการให้ทางผิวหนัง ร่างกายสามารถนำเอาแมกนีเซียมไปใช้ได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการใด ๆ ดังนั้น การพ่นบนผิวหนังแล้ว ผิวหนังจะดูดแมกนีเซียมเข้าไปใต้ผิวและกระแสโลหิตก็จะนำพาเอาแมกนีเซียมไปทั่วร่างกายได้ดีและเร็วกว่า


จะต้องกังวลกับการใช้มากเกินไปหรือไม่


อย่างที่กล่าวไว้ในหัวข้อที่แล้ว ว่าคนส่วนใหญ่มักจะได้รับแมกนีเซียมไม่พอเพียง สำหรับคนไทยตารางของกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าควรได้รับแมกนีเซียมประมาณ 350 มิลลิกรัมสำหรับผู้ใหญ่ ดังนั้นกดขวดสเปรย์ขนาดเล็กสัก 6-7 ครั้งต่อวัน อาทิตย์ละ 2-3 ครั้งก็คงไม่ทำให้แมกนีเซียมคุณเกินไปแน่ ความจริงน่าจะเสริมที่ขาดไปด้วยซ้ำ


สรุป


จากบทความนี้ ผมขอสรุปว่า แมกนีเซียมอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณเป็นตะคริวได้ นอกเหนือจากประโยชน์อื่น ๆ ของแมกนีเซียมที่ผมไม่ได้กล่าวถึง แม้ว่างานวิจัยหลาย ๆ แห่งจะบอกว่าไม่ได้ผล แต่เท่าที่ผ่านมา ผมเองและหลานสาวได้ลองดูแล้วและเห็นผล และก็ไม่ได้ใช้มากมายจนทำให้ได้รับแมกนีเซียมเกิน ผมเองใช้พ่นบนผิวหนัง 3-4 ครั้ง ครั้งหนึ่งก็กดหัวฉีดประมาณ 5 ที ความจริงแล้วถ้าจะเปรียบเทียบกับยาอื่น ๆ แล้ว ผมว่ายาที่เราซื้อมาใช้เองยังน่ากลัวกว่ามาก เช่น ไทรีนอล เป็นต้น (พูดถึงไทรีนอลแล้วทำให้นึกถึงขึ้นมาได้ว่า แมกนีเซียมช่วยบรรเทาอาการผู้ที่เป็นไมเกรน และทำให้นอนหลับได้ดีขึ้นด้วยครับ)

อย่างที่กล่าวไว้ จากงานวิจัยและนักเขียนจำนวนมากที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผมคิดลองฟังคนที่เขาใช้แล้วได้ผลและได้แสดงความคิดเห็นให้ผู้อื่นได้ทราบน่าจะดีกว่า คุณสามารถอ่านรีวิวของผู้ใช้ได้จากเว็บไซต์นี้ของ Amazon และหากให้ท่านสังเกตด้วยว่า บนหน้าเดียวกันนั้น มีสินค้าตัวเดียวกันที่มีหลายเจ้าจำหน่าย และรีวิวของสินค้าในเจ้าอื่น ๆ ก็ได้รับการยอมรับในระดับดีมากจากผู้ใช้เช่นกัน

ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย หากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง ผิดพลาด หรือไม่สมบูรณ์ โปรดให้คำแนะนำด้วย และขอบคุณที่ติดตามงานเขียนของผม


42 views0 comments
bottom of page