top of page
  • Writer's pictureกันต์ธนน วณิชพิสิฐธนา

คนเป็นเบาหวานประเภทสอง...ต้องการหาย ยกมือขึ้น (ตอนที่ 2/2)

Updated: Mar 5, 2019

กันต์ธนน วณิชพิสิฐธนา เขียน


มีทางเลือกรักษาโรคเบาหวานนอกจากใช้ยาหมอไหม


ผมเองไม่เคยเป็นโรคเบาหวาน แต่ด้วยอายุและอาหารปัจจุบันที่ส่งเสริมให้พวกเราเป็นเบาหวานง่ายขึ้นมาก ทำให้ผมมีระดับน้ำตาลและคลอเรสเตอรอลสูงขึ้น (แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์) ซึ่งดูแล้วเหมือนว่า พออายุมากขึ้น การเป็นโรคเบาหวาน คลอเรสเตอรอลสูง ความดันสูง และการต้องรับประทานยาคุมอาการทั้งหลายแหล่นี้เป็นส่วนหนึ่งของคนสูงอายุ

เพราะด้วยความที่ไม่ต้องการให้โรคเบาหวานมาเยือนและความอยากจะลองของ ผมเลยลองใช้สมุนไพรของนอกอยู่ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งราคาค่อนข้างแพง หลังจาก 2 เดือน ผลที่ได้ค่อนข้างน่าพอใจมากเพราะทั้งน้ำตาลและคลอเรสเตอรอลลดลงมามาก โดยที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหาร (ผมไม่ดื่มแอลกอฮอล สูบบุหรี่ แต่รับประทานอาหารขยะบ้าง)

สินค้าตัวนี้มีผู้แทนจำหน่ายในเมืองไทย และก็เป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคเบาหวานซึ่งอยู่ใน PDR ด้วย นั่นหมายความว่า หมอในสหรัฐอเมริกาสามารถสั่งจ่ายยาตัวนี้ให้กับคนไข้ได้หากคนไข้ต้องการ ทำให้คนไข้มีทางเลือกอื่นนอกจากสารเคมีอันตราย หมอที่รู้จักสมุนไพรตัวนี้และมีความเมตตาต่อคนป่วยก็จะแนะนำให้ ส่วนประเทศไทยนั้น โชคร้ายครับ หมอไม่ทราบและไม่สนับสนุน ประกันก็ไม่จ่ายให้ด้วย ต้องหาซื้อรับประทานเอาเอง ก็ไม่แย่เกินไปครับเพราะปัจจุบัน ของไทยก็มีอาหารเสริมที่มีประสิทธิภาพเดียวกันจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยากว่าด้วย

แต่ถ้าไม่อยากกินยาแม้แต่อาหารเสริมทางเลือก คุณยังมีทางเลือกอีกที่สามารถรักษาโรคเบาหวานได้ เพียงแต่ว่าวิธีอื่น ๆ นั้น ผมไม่เคยได้ทดลองใช้เท่านั้น จึงไม่สามารถบอกด้วยประสบการณ์ของผมเองได้ แต่ก็ได้สืบเสาะและสรุปมา 2 วิธีให้คุณได้รับทราบและสามารถไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อใช้ปฏิบัติ ที่คิดว่าได้ผลนั้น พิจารณาจากความรู้ตัวเองที่อ่านมาเยอะ ประกอบกับผลงานของเจ้าของวิธีการก็เป็นที่ยอมรับกันในกลุ่มแพทย์แผนปัจจุบันที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความเมตตาต่อผู้ป่วยโรคร้าย และยอมรับในความรู้ใหม่ ๆ ที่จะต่อสู้กับโรคร้ายนี้ และรวมทั้ง Nobel Prize ด้วย


เราควรรับประทานอาหาร 3 มื้อมาจากความคิดใคร


เราโตขึ้นมาก็ได้รับรู้แล้วว่า เราจะต้องรับประทานอาหารวันละ 3 มือ เราเรียนรู้จากคนในบ้าน คนในบ้านเรียนจากที่ไหน มาจากผู้ใหญ่ในบ้านบ้าง โรงเรียนบ้าง แล้วผู้ใหญ่ในบ้านเรียนมาจากที่ไหน ผมถามอากู๋ด้วยภาษาไทย แต่ก็หาไม่เจอครับ ก็เลยต้องอาศัยประวัติศาสตร์ฝรั่งแทน (อย่าหาว่าผมขี้เกียจเลย ขนาดท่านมุ้ยสร้างพระนเรศวรยังต้องไปค้นหาในห้องสมุดฝรั่งเลย)

ในสมัยโรมัน ชาวโรมันรับประทานอาหารเพียงวันละมื้อเท่านั้น คือตอนประมาณเที่ยง ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า Dinner ชาวโรมันเชื่อว่าการรับประทาน 1 มื้อต่อวันดีต่อการย่อยอาหารและไม่ถือว่าเป็นการตะกละ[i] ในอังกฤษประมาณศตวรรษที่ 17 อาหารเช้าเริ่มเกิดขึ้นในบ้านของคหบดี และเมื่อเริ่มกลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม คนเริ่มเข้ากะงานและมีการกำหนดเวลาพักที่ชัดเจน จึงทำให้การรับประทานอาหารเช้ากลายเป็นเรื่องจำเป็น

สำหรับมื้อเที่ยงนั้น นักประวัติศาสตร์ด้านอาหารก็ยังไม่ทราบว่ามาจากไหน แต่สันนิฐานว่ามาจากคำว่า Luncheon ซึ่งเป็นคำโบราณจาก Anglo-Saxon ที่มีความหมายว่าอะไรที่รับประทานได้ง่ายและรวดเร็วระหว่างมื้อและสามารถือได้ด้วยมือเดียว

ในลักษณะเดียวกันกับมื้อเช้า การปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ทำให้อาหารมื้อเที่ยงกลายเป็นอาหารมื้อปกติที่ต้องรับประทาน เพราะไม่เช่นนั้น จะไม่มีเวลารับประทานเนื่องจากต้องเข้าทำงานตามกำหนดเวลา

ท้ายสุดคือมื้อเย็น อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า มื้อเย็นจะรับประทานกันช่วงเที่ยง และเป็นมื้อที่ดีที่สุดโดยเฉพาะชาวอังกฤษ เราจะเห็นได้จากการจัดเรียงเครื่องใช้บนโต๊ะแบบเต็มรูปแบบและต้องเรียนรู้มารยาทในการรับประทานอาหารบนโต๊ะที่ถูกต้อง ซึ่งแน่นอนว่าเกิดจากบ้านคหบดีที่มั่งคั่ง ต่อมาไฟฟ้าเริ่มให้บริการ Dinner ก็เริ่มรับประทานสายขึ้นเรื่อย ๆ จนในปลายศตวรรษที่ 18 คนส่วนใหญ่ก็เริ่มรับประทานอาหาร 3 มื้อ และในปลายศตวรรษที่ 19 อาหารเย็นก็ได้ถูกลื่นไปเป็นตอนหัวค่ำหลังจากคนกลับจากทำงานแล้ว คนทั่วโลกรวมทั้งไทยด้วยถือว่ามื้อเย็นเป็นมื้อที่สำคัญเพราะทุกคนกลับมาจากที่ทำงานแล้ว และเป็นเวลาที่ทุกคนจะได้อยู่พร้อมหน้ากันในหนึ่งวัน

จากการมีไฟฟ้าใช้ โทรทัศน์เริ่มกระจายไปทั่ว และอุตสาหกรรมอาหารที่มองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ จึงทำให้การรับประทานอาหาร 3 มื้อกลายเป็นสิ่งจำเป็น แม้แต่ในหนังสือสุขศึกษาที่เราเรียนในโรงเรียนก็ว่าเช่นนั้น สำหรับคนจำนวนมากศตวรรษที่ 21 เขากำลังเริ่มเพิ่มมื้ออาหารเป็น 4 มื้อแล้ว (อย่างไม่เป็นทางการ) เนื่องจากนอนดึกขึ้น


เรารับประทานมากเกินไปหรือไม่


เราเคยเรียนในวิชาศีลธรรมว่า ก่อนที่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบหนทางแห่งการดับทุกข์นั้น ท้ายสุดได้อดอาหารเรียกว่าทุกรกิริยา และในที่สุดพระองค์ก็ได้เรียนรู้ว่าการทำทุกรกิริยานั้น ไม่ได้นำไปสู่การดับทุกข์ เพราะพระองค์ไม่สามารถทำสมาธิได้ จึงได้กลับมารับประทานอาหารใหม่ แต่ด้วยการที่รับประทานอาหารแค่เพียงพอเพื่อไม่ให้รู้สึกหิว และสามารถทำสมาธิต่อไปได้นั้น จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระองค์เห็นว่า การเดินสายกลางนั้นดีที่สุด ซึ่งหมายความว่าจะทำอะไรก็ให้พอดี ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป

จากหัวข้อที่แล้ว เราจะเห็นว่า ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ (ไฟฟ้า) และการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ชีวิตในโรงงาน) ทำให้วิธีการรับประทานอาหารของเราเปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้อาหารประจำวันกลายเป็น 3 มื้อ และสิ่งสุดท้ายคืออุตสาหกรรมอาหารช่วยทำเรารับประทานอาหารแต่ละมื้อของเราง่ายขึ้นและมากขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว จนกลายเป็นอยู่เพื่อกิน เช่น บุฟเฟ่ หรือคุณคิดว่าไม่จริง


เราควรลดจำนวนมื้ออาหาร ลดปริมาณ หรือทั้งสองอย่างดี


Dr. Yoshinori Ohsumi เป็นศาสตราจารย์ที่ the Tokyo Institute of Technology ได้รับรางวัล Nobel Prize เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2559 ด้านสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในหัวข้อ “Mechanisms for Autophagy” ออกเสียง “ออ-ทอฟ-เฟอ-กี้” แล้วมันเกี่ยวกับเรื่องเบาหวานอย่างไร ความเป็นจริงแล้วก็ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่การเข้าใจการทำงานของร่างกายในเรื่องนี้ ทำให้เราไปใช้ต่อยอดในเรื่องของเราได้

Autophagy มาจากภาษากรีก โดยคำว่า Auto แปลว่าตัวเอง ส่วน Phagein แปลว่า กิน ดังนั้นคำนี้จึงแปลว่า “กินตัวเอง” Autophagy เป็นกระบวนการของร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายของเราไม่มี Insulin ในกระแสเลือด นั่นหมายความว่าเราไม่ได้รับประทานอะไรเข้าไป Autophagy ก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยกระบวนการจะมองหาของเก่าในร่างกาย เช่น organelles, โปรตีน และเยื้อเซลล์ที่เก่าและใช้งานไม่ได้แล้วไปย่อยสลายเพื่อสร้างเป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย ซึ่งอาจถือว่าเป็นการทำความสะอาดของร่างกาย

เราได้เรียนรู้มาจากวิชาชีววิทยาว่า เซลล์สามารถแบ่งตัวได้ ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น แต่ในธรรมชาติ เซลล์ในร่างกายถูกตั้งโปรแกรมไว้ว่าจะแบ่งตัวได้กี่ครั้ง แล้วตัวมันก็จะไม่แบ่งตัวอีกและตายในที่สุด กระบวนการนี้เกิดขึ้นอัตโนมัติเรียกว่า Apoptosis เซลล์ที่ตายเหล่านี้ก็เลยกลายเป็นขยะที่ค้างอยู่ในร่างกายและควรจะถูกกำจัดออกไป รวมกับของตกค้างอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็น

สิ่งที่น่าอัศจรรย์ต่อมาก็คือ ในขณะที่ร่างกายของเราไม่มีอาหาร ร่างกายของเราจะหลั่ง Growth Hormone ออกมา ซึ่งทำให้ร่างกายของเราผลิดเซลล์ใหม่ออกมาที่สามารถแบ่งตัวได้อีก ในการทำให้เกิดกระบวน Autophagy เราจำเป็นต้องอดอาหาร (Fasting) ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดสิ่งต่อไปนี้

  • เซลล์จะทำลายของเหลือที่เป็นขยะในร่างกายตามธรรมชาติ

  • ร่างกายจะสร้าง Growth Hormone ซึ่งจะทำให้ร่างกายสร้างเซลล์ใหม่ และร่างกายของคุณจะมีอายุยืนยาวขึ้น และ

  • ถ้าคุณมีไขมันส่วนเกินที่ถูกเก็บไว้ในที่ต่าง ๆ ของร่างกาย ไขมันนั้นก็จะนำมาใช้ ทำให้คุณลดน้ำหนักได้ และจะช่วยให้อาการโรคเบาหวานคุณดีขึ้นด้วย

ตอนนี้เริ่มมองเห็นประโยชน์หรือยังครับว่าการค้นพบของ Dr. Ohsumi ในเรื่อง Autophagy หากคุณสนใจอาจสนใจรายละเอียดมากกว่านี้ คุณสามารถอ่านได้จาก บทความของ Dr. Jason Fung, MD ซึ่งสรุปจากงานวิจัย Dr.Ohsumi แต่ถ้าต้องการอ่านงานวิจัยของ Dr. Ohsumi เองก็สามารถอ่านได้จากตรงนี้


แล้วมีงานวิจัยอื่นอีกหรือไม่ที่คิดว่าจะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานดีขึ้น


Dr. Robert Lustig เป็นศาสตราจารย์ด้านการรักษาปัญหาต่อมไร้ท่อที่ University of California, San Francisco ได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับน้ำตาลว่าเป็นยาพิษที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคระบาดเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญอาหาร เขายังได้เรียนเพิ่มเติมด้านกฎหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องน้ำตาลและต่อสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหาร

สิ่งที่กล่าวไว้ในหนังสือและวิดิโอคือ น้ำตาลเป็นสารเสพติดอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับคาเฟอีนและเหล้า


หมายเหตุ ในวิดิโอนี้ ข้อมูลเรื่องร่างกายและสมองต้องการกลูโคสนั้นทำให้เรายังต้องรับประทานคาร์โบไฮเดรตอยู่ ขัดแย้งกับงานวิจัยใหม่ที่ผมจะกล่าวถึงต่อไป



วิธีการรักษาโรคเบาหวาน


จากความรู้เรื่อง Autophagy และน้ำตาลเป็นพิษต่อร่างกายที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองท่าน ได้อธิบายรายละเอียดและมีผลงานวิจัยที่เป็นที่ยอมรับ ทำให้เราสามารถสรุปวิธีการรักษาเบาหวานได้ 3 วิธีตามที่กล่าวมาข้างต้น โดยเราจะไม่พิจารณาบรรดาวิธีรักษาโรคเบาหวานทั้งหลายที่หลาย ๆ คนได้เขียน ได้ยินมา ได้ลองมาแล้วไม่ได้ผล หรือไม่แน่ใจว่าจะได้ผล ดังนี้

  1. การลดคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล

  2. อดอาหารเพื่อรักษาโรค (อย่าเพิ่งบอกว่าทำไม่ได้)

  3. หรือทั้งสองอย่าง


การลดคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล


จากคำแนะนำของนักวิทยาศาสตร์เมื่อสัก 50 ปีที่แล้วบอกว่า ไขมันเป็นโทษต่อร่างกาย ทำให้อุตสาหกรรมอาหารพยายามที่จะลดไขมันออกจากอาหาร กระบวนการนี้ทำให้รสอาหารจีดชืด ดังนั้น วิธีแก้ไขง่าย ๆ ก็คือการใส่น้ำตาลเข้าไปเพื่อช่วยปรุงแต่งให้อาหารมีรสชาดดีขึ้น (นอกเหนือจากเหตุผลอย่างอื่นอีกหลายประการ) ด้วยเหตุนี้ อาหารสำเร็จรูปเกือบทุกประเภทคิดเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 บนชั้นวางของจะต้องมีน้ำตาลปนอยู่

แยมขวดนี้ ใน 1 ข้อนโต๊ะ มีน้ำตาลฟลุคโตส 3 ช้อนชา

จากตัวอย่างสินค้าที่นำมาเป็นตัวอย่าง ใน 1 ช้อนโต๊ะหรือ 20 กรัม ประกอบด้วยน้ำตาล 12 กรัม นั่นหมายความว่า แยม 1 ข้อนโต๊ะประกอบด้วยน้ำตาล 3 ช้อนชา (1 ช้อนชา เท่ากับน้ำตาล 4 กรัม) แต่ที่มากไปกว่านั้น ก็คือน้ำตาลที่ใช้เป็น Fructose Corn Syrup ซึ่งมึความหวานกว่าน้ำตาลปกติ และเป็นโทษกว่าน้ำตาลทราย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้โจมตียี่ห้อนี้ ยี่ห้ออื่น ๆ ทั้งไทยและเทศก็ไม่ได้ดีไปกว่านี้หรืออาจแย่กว่าด้วยซ้ำ สังเกตได้จากราคาว่ายิ่งถูกยิ่งมีโทษมาก ยกเว้นเวอร์ชั่นเพื่อสุขภาพที่คนไทยหลายเจ้าทำอยู่ แต่ส่วนใหญ่ธุรกิจก็ไปยากเพราะคนเห็นคุณค่าน้อย

แยมเป็นตัวอย่างอาหารที่เห็นชัดว่ามีน้ำตาล เพราะรสชาดชัดเจน ลองดูสินค้าตัวอื่นบ้าง เข่น ขนมปังโฮลวีท ยี่ห้อนี้ ซึ่งผมก็ซื้อเป็นประจำ (อยากจะทำเองมากกว่า แต่ยังไม่มีเวลา) ใน 2 แผ่น 50 กรัม จะประกอบด้วยน้ำตาล 2 กรัม (1/2 ช้อนชา) ก็ไม่แย่ไปนัก แต่มีคาร์โบไฮเดรต 22 กรัม ซึ่งจะถูกแปลงเป็นน้ำตาลกลูโคสอีกที และถ้าคุณบวกกับแยมข้างบน คุณก็จะได้น้ำตาลมากเกิน 1 วันแล้ว ยังไม่รวมอาหารมื้ออื่นที่คุณยังไม่ได้รับประทาน

ขนามปังโฮลวีทที่เราคิดว่าดีต่อสุขภาพ

รายละเอียดอีกอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้จักเรียกว่า ดัชนีไกลซีมิก (Glycemic Index - GI) ดัชนีนี้เป็นตัวที่บอกว่า อาหารที่เป็นแป้งสามารถแปลงเป็นน้ำตาลได้เร็วช้าเพียงใด ดัชนีไกลซีมิกยิ่งสูง ความเร็วในการแปลงเป็นน้ำตาลก็จะเร็วขึ้น พอน้ำตาลขึ้นเร็ว ร่างกายก็จะหลั่งอินซูลินออกมาเร็วเช่นกัน

ปกติเราก็จะไม่ทราบว่า อาหารแต่ละตัวดัชนีไกลซีมิกจะเป็นเท่าไหร่ (ผมก็เพิ่งจะได้เรียนรู้มาสัก 2 ปีนี้เอง) ดัชนีไกลซีมิกเป็นระดับคะแนนของอาหารโดยประเมินว่า อาหารแต่ละชนิดประมาณ 50 กรัม จะมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดภายใน 2–3 ชั่วโมงหลังรับประทานอย่างไร โดยทั่วไปอาหารที่ได้คะแนนอยู่ระหว่าง 1– 55 จะมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดน้อย และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในขณะที่อาหารที่มีคะแนนอยู่ระหว่าง 56–69 มีผลปานกลาง และควรรับประทานแต่พอประมาณ ส่วนอาหารที่มีคะแนน 70 ขึ้นไปจะมีผลเสียมาก และควรรับประทานแต่น้อย คะแนนดัชนีไกลซีมิกไม่ได้พิจารณาขนาดของปริมาณที่รับประทาน

ข้อมูลจาก https://healthiack.com/health/glycemic-index-chart

ในตารางแสดงให้เห็นถึงอาหารตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น หากเป็นอาหารที่ปรุงแล้วโดยมีส่วนประกอบของอาหารหลายตัวก็ยิ่งต้องระวังมากขึ้น

ทีนี่คุณอาจจะเริ่มรู้สึกแล้วว่า แค่คาร์โบไฮเดรตตัวเดียวทำไมยุ่งยากจัง “ไม่กินได้ไหมเนี่ย” ถ้าคุณถามคำถามนี้กับ Dr. Lustig ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น หรือ ศาสตราจารย์ Tim Noakes จาก Cape Town University ว่ามนุษย์จำเป็นต้องใช้คาร์โบไฮเดรตในการดำรงชีวิตหรือไม่ คุณก็จะได้คำตอบว่า “ไม่จำเป็น” หากเราไม่ได้รับกลูโคส ตับจะเริ่มใช้ Glycogen ที่ตับเก็บไว้แล้วแปลงเป็นกลูโคส เมื่อ Glycogen หมดแล้ว ร่างกายก็ยังไม่มีกลูโคสเข้ามาอีก ตับก็จะแตกไขมันให้กลายเป็นพลังงานแทนกลูโคส ซึ่งเรียกว่า Ketone Body (อธิบายแบบง่าย ๆ) นอกจากนี้ Ketone ยังดีกับสมองด้วย เพราะจะทำให้สมองสร้าง Neuron ใหม่ ทำให้คุณมีความจำดีขึ้น คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคทางสมองก็ดีขึ้นเช่นกัน ทำไปทำมาเรื่องนี้ก็ไปคาบเกี่ยวกับการอดอาหาร

ที่ผมได้เกริ่นไว้ในหมายเหตุจากวิดิโอของ นพ.บุญชัย อิศราพิสิษฐ์ ว่า ข้อมูลเรื่องร่างกายและสมองต้องการกลูโคสนั้นทำให้เรายังต้องรับประทานคาร์โบไฮเดรตอยู่นั้น จากผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านในย่อหน้านี้อธิบายว่า ร่างกายเราสามารถสังเคราะห์กลูโคสได้จากไขมัน ดังนั้น การรับประทานกลูโคสจึงไม่มีความจำเป็น แต่โดยปกติแล้วเราไม่ขาดคาร์โบไฮเดรตอยู่แล้วเพราะแม้แต่ในผักก็มีคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลอยู่ อีกประเด็นหนึ่ง สมองสามารถใช้ Ketone แทนกลูโคสได้ และใช้งานได้ดีกว่ากลูโคสด้วยซ้ำไป จากงานวิจัยของ Dr. Stephen Cunnane บนเว็บไซต์นี้ เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ในผู้สูงอายุ สมองมีความสามารถในการใช้กลูโคสลดลงประมาณร้อยละ 10 และผู้ป่วยที่เกิดโรคความจำเสื่อม (Alzheimer) ความสามารถของสมองในการใช้กลูโคสลดลงร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับผู้สูงอายุที่ร่ายกายแข็งแรง ความสามารถในการทำงานที่ลดลงของสมองนี้อาจเกิดขึ้นนานก่อนจะเกิดปัญหาความจำเสื่อม และอาจทำให้เกิดโรคความจำเสื่อมได้ง่ายขึ้น[ii]

สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงก็คือ พอคุณเห็นของทอด อาหารทะเล เค้ก ขนมปัง แยมโรล หรือน้ำหวานประเภทต่าง ๆ แล้วก็อดไม่ได้ เล็กน้อยคงไม่เป็นไร ก็คิดแบบนี้แหละทำให้คนที่ผมรู้จักไปรับประทานอาหารทะเล ต้องเข้าโรงพยาบาลด่วนหลังจากนั้น และกลายเป็นอัมพฤกษ์ไป เพราะเขาเองก็มีอาการคลอเรสเตอรอลสูงอยู่แล้ว เพียงแต่คิดว่าปีใหม่หนเดียวคงไม่เป็นไร


การอดอาหารคืออะไร


คำอธิบายจากเว็บเพจของ Dr. Jason Fung เขากล่าวว่าการอดอาหาร (Fasting) เป็นการยินยอมที่จะงดรับประทานอาหารในช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ใช่การทำให้ร่างกายขาดอาหาร การอดอาหารไม่ได้บอกว่าคุณควรรับประทานอะไร แต่ให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทาน ว่าจะรับประทานหรืองดอาหารเมื่อไหร่

ทุก ๆ ศาสนาบนโลกนี้มีช่วงที่ให้ผู้นับถือศาสนานั้น ๆ อดอาหารในช่วงหนึ่งหรือหลายช่วงในหนึ่งปี หากการอดอาหารเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ศาสนาต่าง ๆ ก็คงไม่ทำเช่นนั้น แต่เป็นกุศโลบายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้นับถือศาสนานั้นต่างหาก สำหรับเราแล้ว ที่เห็นง่ายที่สุดก็คือพระสงค์จะถูกห้ามให้ฉันท์อาหารหลังเที่ยงจนเช้าวันรุ่งขึ้น เราจะเห็นได้ว่าพระสงฆ์ก็ดำเนินชีวิตเป็นปกติ


ประโยชน์ของการอดอาหาร

  1. เพิ่มการเผาผลาญไขมัน

  2. เพิ่มกำลังวังชา

  3. ทำให้อารมณ์ดี

  4. เพิ่มการตัดสินใจที่ดี

  5. ทำให้ผิวพรรณดี

  6. ช่วยให้การย่อยอาหารดีขึ้น

  7. ทำให้กล้ามเนื้อทำงานดีขึ้น

  8. เพิ่ม Autophagy

  9. เพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย

  10. ชีวิตยืนยาวขึ้น

  11. ประหยัดเวลา

  12. ประหยัดเงิน (อันนี้อาจไม่ใช่เหตุผลที่ดีสำหรับขากิน)

  13. ลดการอักเสบในร่างกาย (Inflammation)

  14. ลดความดันโลหิต

  15. แก้ไขปัญหาไขมันพอกตับ

  16. ลดความรู้สึกหิว

  17. ลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ

  18. ลดความเสี่ยงจากความจำเสื่อม

  19. ลดความเสี่ยงจากโรคเบาหวาน

  20. แก้ไขปัญหาระบบเผาผลาญอาหาร

ถ้าต้องการอดอาหารต้องทำอย่างไร


ก่อนที่เราจะเริ่มรายละเอียดในเรื่องการอดหารเพื่อสุขภาพ ผมอยากยกตัวอย่างให้กับคนก็ยังแครงใจอยู่ว่ามันจะดีจริงหรือดังนี้ ผมคิดว่าคุณคงเคยเป็นไข้หรือไม่สบาย และถ้าคุณจำได้ คุณจะไม่อยากอาหารเอาเสียเลย จากคำอธิบายของ Dr. Fung ที่ผมได้กล่าวถึงข้างต้น ท่านอธิบายว่า นี้เป็นกลไกของร่างกายที่ไม่ต้องการให้เรารับประทานอาหาร เพื่อร่างกายของเราจะได้รักษาตัวเองได้เร็วที่สุด (ดูจากประโยชน์ของการอดอาหารที่ข้อ 9)

จากเว็บไซต์นี้ ได้แบ่งวิธีการอดอาหารเป็นระยะ (Intermittent Fasting) ที่นิยมกันแบ่งออกเป็น 6 วิธีด้วยกัน โดยผมสรุปให้ทราบคร่าว ๆ ดังนี้

  1. วิธี 16/8 ซึ่งหมายถึงอดอาหารวันละ 16 ชั่วโมง วิธีนี้จะให้เวลาคุณ 8 ชั่วโมงที่สามารถรับประทานอาหารได้ ซึ่งคุณสามารถที่จะเลือกรับประทาน 2 หรือ 3 มื้อก็ได้ เช่น ถ้าคุณรับประทานมื้อเช้าตอน 8 โมงเช้า อาหารมื้อสุดท้ายของคุณจะเป็นบ่าย 4 โมง คุณสามารถกำหนดเวลาเริ่มต้นของคุณเองได้ตามพอใจ ส่วนในระหว่างที่ไม่ได้รับประทานอาหาร คุณสามารถดื่ม น้ำ กาแฟ (ไม่มีน้ำตาลหรือนม) หรืออย่างอื่น ที่ไม่มีพลังงานในเครื่องดื่ม (ผมแนะนำว่า ถ้าไม่แน่ใจก็น้ำเปล่ากับกาแฟเป็นดีสุดครับ) นมวัว นมถั่วเหลืองห้ามครับ

  2. วิธี 5:2 หมายถึง อดอาหาร 2 วันต่อสัปดาห์ คุณจะรับประทานอาหารปกติ 5 วัน โดยอีก 2 วัน คุณจะจำกัดอาหารไม่เกิน 500-600 แคลอรี่ในอีก 2 วันที่เหลือ วิธีการนี้แนะนำให้ผู้หญิงและผู้ชายรับประทานไม่เกิน 500 และ 600 แคลอรี่ตามลำดับ วิธีการนี้ยังไม่มีการวิจัยที่ชัดเจนว่าได้ผลดีหรือไม่

  3. วิธี Eat-Stop-Eat อาจแปลว่า กิน-หยุด-กิน หมายถึงให้อดอาหาร 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เช่น หลังจากมื้อเย็นวันนี้ คุณจะไม่รับประทานอะไรอีกจนถึงมื้อเย็นของพรุ่งนี้ เป็นต้น แต่คุณก็สามารถเลือกมื้ออาหารได้ตามชอบ

  4. วิธีอดอาหารสลับวัน แปลตรง ๆ ก็คือ ทำวันเว้นวัน ซึ่งเจ้าของบทความรวมทั้งผมเองก็ว่าไม่ไหว

  5. วิธีอดอาหารแบบนักรบ คืออดกลางวัน (เพราะต้องออกไปรบ) แล้วรับประทานมื้อใหญ่กลางคืน จริง ๆ แล้วกลางวันก็รับประทานอะไรเบา ๆ เช่น ผลไม้และผัก แล้วค่อยทานเต็มรูปแบบตอนกลางคืน วิธีการนี้เน้นการเลือกประเภทอาหารด้วย ซึ่งคล้ายการรับประทานแบบ Paleo Diet ซึ่งจะกล่าวต่อไป

  6. วิธี อดอาหารตามอัธยาศัย ซึ่งหมายความว่า ถ้าไม่อยากอาหารหรือยุ่งเกินไป ก็อดเสีย


แล้วอดอาหาวิธีไหนดีที่สุด


หากคุณเคยเรียนการฝึกอุปนิสัยให้ทำอะไรสักอย่าง วิธีการที่ดีที่สุดก็คือการทำให้สม่ำเสมอ หากทำได้นานพอก็จะทำได้โดยไม่ต้องคิด เพราะกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ตัวอย่างง่าย ๆ คือ แปรงฟันก่อนนอน เป็นตัน คุณไม่คิดว่าจะเป็นภาระ แต่กลายเป็นสิ่งที่ต้องทำ

การอดอาหารก็เช่นกัน หากคิดจะทดลองการอดอาหารเพื่อสุขภาพ คุณจะเลือกวิธีใดก็ได้ แต่ผมคิดว่าการ อดอาหารให้เป็นกิจวัตร เช่น เดียวกับพระสงฆ์ คุณก็จะไม่รู้สึกหิวหลังจากฝึกแล้วระยะหนึ่ง สังเกตได้จาก พระสงฆ์ในเมืองไทย ผอมแห้งแรงน้อยกันหรือเปล่า

ก่อนได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมเคยลองอดอาหารเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้วโดยไม่รู้แนวทางที่ถูกต้อง แต่ก็สามารถลดน้ำหนักได้ และก็ไม่ได้ทำให้ผมป่วยหรือเป็นโรคกระเพาะแต่อย่างไร (แต่ถ้ารู้ Autophagy ตอนนั้น อาจทำให้ผมตอนนี้ดูหนุ่มกว่านี้ก็ได้)

ปัจจุบันผมไม่ใช้น้ำตาลในกาแฟของผมและในอาหารที่ผมทำเองที่บ้าน แต่ใช้หญ้าหวานแทน ผมทำโยเกิร์ตรับประทานเองมาประมาณ 4 เดือนแล้วก็รู้สึกดี ท้องไม่อืด ถ่ายทุกวัน และไม่เคยท้องเสีย

โดยเฉพาะในช่วงสัก 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาก (หลังจากได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง Autophagy และ Ketonic Diet เพื่อเขียนบทความนี้) ผมได้เริ่มลองจำกัดเวลารับประทานอาหารให้อยู่ภายในกรอบ 8 ชั่วโมง แต่ปริมาณอาหารจะมากขึ้นเพื่อไม่ให้น้ำหนักลด ณ เวลานี้ ผมเฉย ๆ ในช่วงที่ไม่ได้รับประทานอาหาร แม้ได้กลิ่นอาหารก็ไม่ได้อยาก ของโปรดที่เป็นช็อคโกเลตของผมก็รู้สึกเฉย ๆ ไม่อยากเหมือนแต่ก่อน ยิ่งนมเปรี้ยวที่เป็นน้ำตาลน้อยก็ดื่มไม่ได้เพราะรู้สึกหวานมากเกินไป


การลดคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลและอดอาหารเพื่อรักษาโรค


วิธีสุดท้ายก็คือการทำทั้งสองอย่างไปพร้อม ๆ กัน หากคุณมีอาการของโรคเบาหวานอยู่แล้ว การเลือกอาหารพร้อมกับการอดอาหารในเวลาเดียวกัน จะทำให้คุณอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว การที่คุณฝึกให้ร่างกายของคุณรับประทานแป้งน้อยลงพร้อม ๆ กับการอดอาหาร ช่วงแรกจะค่อนข้างทรมารจากความหิว โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ฝึกจะเริ่มรู้สึกหิวน้อยลงหรือไม่หิวหลังจากฝึกไป 4-5 วัน บางคนอาจใช้เวลาน้อยกว่านั้น

นอกจากนี้ การอดอาหารโดยให้เกิด Ketone Body นั้น ควรทิ้งช่วงที่เราไม่รับประทานอาหารให้มากขึ้น เช่น รับประทานอาหาร 2 มื้อภายใน 8 ชั่วโมง และหลังจากนั้นก็จะไม่รับประทานอะไรอีก หากคุณรับประทานมื้อสุดท้ายในชั่วโมงที่ 8 และมีเนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์ต้องใช้เวลาย่อยอีกนาน ในทางการแพทย์อาหารจากปากถึงลำไส้ อาจต้องใช้ 36–72 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณและประเภทของอาหาร ดังนั้นควรหาอาหารที่ย่อยง่ายรับประทาน

จากภาพข้างขวา บอกถึงส่วนประกอบของประเภทอาหารตามแนวทางการรับประทานอาหารต่าง ๆ ซึ่งส่วนประกอบของอาหารมีอยู่ 3 ชนิดคือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน เพราะฉะนั้น ในการอดอาหารแบบ Ketonic Diet คุณจะรับประทานโปรตีนร้อยละ 20 คาร์โบไฮเดรตและไขมัน 5 และ 75 ตามลำดับ และลองไล่ลงมาจากบนลงล่าง คุณจะเห็นได้ว่า แนวทางการเลือกประเภทอาหารนั้น ปริมาณของคาร์โบไฮเดรตลดลงเรื่อย ๆ

แต่เดิมบรรดานักวิจัยก็บอกว่าห้ามไขมันเด็ดขาด ตอนนี้มีนักวิจัยบางกลุ่มเริ่มออกมาบอกว่าน้ำมันอิ่มตัวนั้น ไม่เป็นอันตรายกับเรารวมทั้งผู้ที่เป็นโรคเบาหวานด้วย ไขมันในที่นี้ผมหมายถึงไขมันที่ได้จากพืชและสัตว์ที่เป็นไขมันอิ่มตัวไม่ว่าจะเชิงเดี่ยวหรือเชิงซ้อน ถ้าเราสังเกตว่าแต่เดิมเมื่อสัก 40-50 ปีก่อน เราใช้น้ำมันหมูทำอาหารหรือน้ำมันพืชที่ชาวบ้านทำใช้กันเอง ก็ไม่เห็นจะมีคนป่วยเป็นเบาหวานมากมายเหมือนปัจจุบัน ผมเองก็รับประทานน้ำมันมะพร้าวทุกวันโดยใส่ในกาแฟแทนครีมเทียม ปรุงอาหารแทนน้ำมันพืชที่ขายกันในท้องตลาดเป็นครั้งคราว และใส่ในซีเรียล ทำอย่างนี้มาเกือบปีหนึ่งแล้ว เมื่อตรวจปริมาณไขมันในร่างกายก็มีเพียงประมาณ 15 % เท่านั้น และมีรอบเอวลดลง 2 นิ้วจากเดิม 32 นิ้ว ดังนั้น ในเรื่องไขมันที่ไม่รวมน้ำมันชนิดทรานส์แล้ว ผมค่อนข้างมั่นใจว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม


เพิ่มเติม


ถ้าวิธีไหนที่กล่าวมาข้างต้นก็ไม่สามารถทำได้ วิธีสุดท้ายก็คือใช้ FUD จากบริษัท โพลีเฮอร์บ เน็ตเวอร์ค ซึ่งสารอาหารที่สามารถช่วยคนที่เป็นโรค NCD ได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป คุณจะสามารถเห็นผลได้ภายใน 1 เดือนหลังจากรับประทาน หากสนใจสินค้า สามารถสมัครเป็นสมาชิกฟรีก่อนเพื่อรับส่วนลด


สรุป


ผมหวังว่า บทความนี้พอที่จะทำให้คุณได้มองเห็นภาพ และมีความเข้าใจการทำงานของร่างกายหลาย ๆ ส่วนที่มีผลต่อโรคเบาหวาน รวมทั้งแนวคิดในการรักษาโรคเบาหวานให้หายขาดได้ ผมไม่ได้ลงวิธีการปฏิบัติที่ชัดเจนเนื่องจากผมไม่ได้ตั้งใจให้บทความนี้สอนให้คุณรักษาเบาหวานด้วยตัวเอง คุณจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมแนวทางในการปฏิบัติหากต้องการ จากแหล่งที่เชื่อถือได้หรือปรึกษาผู้ที่มีความรู้จริงในการปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่ตนเอง

ผมไม่ได้มีปัญหาโรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันสูง หรือความดันโลหิตสูง ดังนั้น ผมจึงไม่สามารถบอกจากประสบการณ์ของตัวเองได้ทุกเรื่อง แต่จากการศึกษาที่มีเหตุมีผล จากผู้เชี่ยวชาญที่ผมกล่าวถึงในบทความนี้ไม่กี่ท่าน (ซึ่งยังมีอีกจำนวนมากที่ผมไม่กล่าวถึง) ผมมั่นใจว่า แนวทางการรักษาที่กล่าวในบทความนี้ สามารถทำได้ง่ายและได้ผลจริง เพราะผมเองก็น้ำหนักลดเมื่อนำวิธีการนี้ไปปฏิบัติ

ขอขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้ และหากมีอะไรที่ไม่ชัดเจน ขาดตกบกพร่องไป โปรดให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง



78 views0 comments
bottom of page